สภาทนายพร้อมช่วย”เจสซี วาร์ด”นางแบบดัง ถูกทนายคบคิดแก๊งทวงหนี้ สูญบ้าน-ทรัพย์สิน

สภาทนายพร้อมช่วย”เจสซี วาร์ด”นางแบบดัง ถูกทนายคบคิดแก๊งทวงหนี้ สูญบ้าน-ทรัพย์สิน

จากกรณีที่ นายโคลิน วาร์ด อายุ 61 ปี ชายสัญชาติไอร์แลนด์ บิดาของ นางแบบชื่อดัง น.ส.เจสซี วาร์ด เคยร้องเรียน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2558 ว่าโดนแก๊งทวงหนี้นอกระบบเสนอให้ภรรยา ของนายโคลิน เป็นลูกหนี้ ปลอมแปลงเอกสาร โอนถ่าย บ้านและทรัพย์สินทั้งหมดของนายโคลิน ให้กับแก๊งทวงหนี้ ภายหลังมีการฟ้องคดีเพื่อเอาทรัพย์สินคืน แต่นายโคลิน แพ้คดี อ้างว่ามีทนายความในขณะนั้นสมรู้ร่วมคิดรับเงินฝ่ายตรงข้าม ไม่มีการนำพยานหลักฐานที่เป็นผลพิสูจน์การปลอมลายมือชื่อเข้าพิสูจน์ในศาลเพื่อให้แพ้คดี

นายสมบัติ วงศ์กำแหง อุปนายกฝ่ายบริหารสภาทนายความ กล่าวว่า ทางสภาทนายความยังไม่เห็นข้อเท็จจริงทั้งพยานหลักฐาน หากผู้เสียหายประสงค์จะให้สภาทนายความให้ความช่วยเหลือและตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆเพิ่มเติม ให้มาติดต่อขอความช่วยเหลือที่สภาทนายความได้ จากที่ทราบข่าวเบื้องต้นในเรื่องนี้มีประเด็นข้อกฎหมายอยู่3เรื่อง โดยหลักแล้วการดำเนินคดีซ้ำจะไม่สามารถกระทำได้ในคดีแพ่ง และเรื่องที่มีทนายความเข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้าประสงค์ที่จะให้สภาทนายความตรวจสอบพิจารณาดำเนินการก็ต้องมาร้องให้สภาทนายความตรวจสอบ

นายสมบัติ กล่าวต่อว่า ขณะที่ข้อเท็จจริงต่างๆที่เข้ามาจะต้องแบ่งการพิจารณาออกเป็น3ด้าน คือ ในเรื่องคดีอาญา การฉ้อโกงปลอมแปลงเอกสารอันเป็นเท็จ มีการดำเนินการฟ้องร้องคดีไปถึงไหนแล้ว ต้องมาดำเนินการตรวจสอบกันอีกครั้ง ส่วนอีกเรื่องคือประเด็นเรื่องความเสียหายจากการถูกเพิกถอนนิติกรรมว่าตกลงแล้วการดำเนินคดีแพ่งเป็นอย่างไรบ้าง ต้องให้ทางฝ่ายผู้เสียหายนำเอกสารทั้งหมดเท่าที่มีการดำเนินการมาให้สภาทนายความดู และในเรื่องสุดท้าย คือ การที่ระบุว่าทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้อง มีการดำเนินการตรงจุดใดที่ผิดจรรยาบรรณในวิชาชีพ ทางสภาทนายความจะเข้าไปตรวจสอบดูให้ และถ้าข้อเท็จจริงปรากฏหลักฐานจะพิจารณาดำเนินการให้ตามสิทธิในกรอบของกฎหมาย

“ถึงแม้คดีทางแพ่งไม่สามารถฟ้องซ้ำได้ แต่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายฟ้องไล่เบี้ยเอาจากทนายความคนดังกล่าว ถ้ามีพยานหลักฐานได้ว่าถูกละเมิดและได้รับความเสียหายจากการทำหน้าที่ ในส่วนของเรื่องมารยาททนายความหากพิสูจน์แล้วว่าทนายความมีความผิดจริง มีโทษสูงสุดให้ลบใบอนุญาตทนายความ ถือเป็นการลงโทษประหารชีวิตทางวิชาชีพ”นายสมบัติกล่าว

ด้านนายสรัลชา ศรีชลวัฒนา เลขาธิการสภาทนายความ กล่าวเสริมว่า ในเรื่องนี้ยังไม่เคยมีการร้องมาที่สภาทนายความ หากผู้เสียหายมีความประสงค์ขอความเป็นธรรมจากการที่ถูกละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในหน้าที่ของทนายความ สามารถเข้ามาร้องเรียน ทางสภาทนายความจะมีการสอบสวนข้อเท็จจริงว่าเข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายหรือไม่ หากเป็นตามที่ผู้เสียหายพูดจริง การกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายศักดิ์ศรีวิชาชีพของทนายความอย่างร้ายแรง ส่วนการช่วยเรื่องการดำเนินคดีอาญาหรือเรื่องทางแพ่งกับทนายความคนดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ต้องไปดูข้อกฎหมายให้แน่ชัดอีกครั้ง เพราะอย่างเรื่องคดีแพ่งตามกฎหมายการฟ้องร้องจะต้องกระทำภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่รู้ว่าถูกกระทำละเมิด