อริศัตรูพ่ายแพ้ ภัยพาล!! หลักธรรมองค์หลวงปู่มั่น เมื่อนักเลงหน้าไม้พาลูกสมุนพร้อมอาวุธบุก หลวงปู่ดูลย์ อตุโล หวังเอาของขลังอยู่ยงคงกระพัน สุดท้ายพ่ายแพ้ด้วยปริศนาธรรม!?

อริศัตรูพ่ายแพ้ ภัยพาล!! หลักธรรมองค์หลวงปู่มั่น เมื่อนักเลงหน้าไม้พาลูกสมุนพร้อมอาวุธบุก หลวงปู่ดูลย์ อตุโล หวังเอาของขลังอยู่ยงคงกระพัน สุดท้ายพ่ายแพ้ด้วยปริศนาธรรม!?

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล สอนวิชาพื้นฐานการเรียนอาคมแก่นักเลง จนเปลี่ยนใจด้วยหลักคำสอนหลวงปู่มั่น

มีเรื่องเล่าสมัยที่หลวงปู่เดินทางกลับจากอุบลฯ มาสุรินทร์ เพื่อโปรดญาติโยมในครั้งแรก ท่านมาในรูปแบบของพระธุดงค์กัมมัฏฐาน และพำนักโปรดญาติโยมอยู่ที่สำนักป่าบ้านหนองเสม็ด ตำบลเฉนียง อำเภอเมืองสุรินทร์

ในช่วงนั้นได้มีชายหัวนักเลงอันธพาลผู้หนึ่ง เป็นที่กลัวเกรงแก่ประชาชนในละแวกชายแดนไทยและกัมพูชา เมื่อได้ยินข่าวเล่าลือเกี่ยวกับพระธุดงค์มาพำนักที่บ้านเสม็ด เขามั่นใจว่าพระจะต้องเป็นผู้มีวิชาด้านคาถาอาคม จึงมีความประสงค์จะได้วัตถุมงคลเครื่องรางของขลังประเภทอยู่ยงคงกระพัน ยิงไม่ออกฟันไม่เข้า ดังนั้นจึงพาลูกสมุนตัวกลั่น ๔ คน มีอาวุธครบครันแอบเข้าไปหาหลวงปู่อย่างเงียบๆ ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม ชาวบ้านที่มาฟังธรรม และมาบำเพ็ญสมาธิภาวนาพากันกลับหมดแล้ว

กลุ่มนักเลงแสดงตน กล่าวอ้อนวอนหลวงปู่ว่า พวกตน ที่มาครั้งนี้ก็เพราะมีความเลื่อมใสศรัทธา มีเจตนาจะมาขอวิชาคาถาอาคมไว้ป้องกันตัว ขอพระคุณท่านได้โปรดถ่ายทอดวิชาอาคมให้พวกกระผมเถิด

หลวงปู่กล่าวกับชายกลุ่มนั้นว่า “ข้อนี้ไม่ยาก แต่ว่าผู้ที่จะรับวิชาอาคมของเราได้นั้น จะต้องมีการปรับพื้นฐานจิตใจให้แข็งแกร่ง เสียก่อน มิฉะนั้นจะรองรับอาถรรพ์ไว้ไม่อยู่ วิชาก็จะย้อนเข้าตัวเกิดวิบัติภัยร้ายแรงได้ คาถาทุกคาถา หรือวิชาอาคมที่ประสงค์จะเรียนนั้น จะต้องอาศัยพื้นฐานคือ พลังจิต จิตจะมีพลังได้ก็ต้องมีสมาธิ สมาธินั้นจะเกิดขึ้นได้ก็แต่จากการนั่งภาวนาทำใจให้สงบ วิชาที่จะ ร่ำเรียนไปจึงจะบังเกิดผลศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีพิบัติภัยตามมา”

ฝ่ายนักเลงเหล่านั้น เมื่อเห็นอากัปกิริยาอันสงบเย็นมั่นคง มิได้รู้สึกสะทกสะท้านต่อพวกเขา ประกอบกับปฏิปทาอันงดงามของท่าน ก็เกิดความเย็นกาย เย็นใจ เลื่อมใสนับถือ อีกอย่างก็มีความอยากได้วิชาอาคมดังกล่าว จึงยินดีปฏิบัติตาม

หลวงปู่ได้แนะนำให้นั่งสมาธิภาวนา แล้วบริกรรมภาวนาในใจว่า พุทโธ พุทโธ ชั่วเวลาประมาณ ๑๐ – ๒๐ นาทีเท่านั้น จอมนักเลงก็รู้สึกสงบเย็น ยังปีติให้บังเกิดซาบซ่านขึ้นอย่างแรง เห็นปรากฏชัดในสิ่งที่ตนเคยกระทำ เห็นวัวควายกำลังถูกฆ่า เห็นคนที่มีอาการทุรนทุรายเนื่องจากถูกทำร้าย เห็นความชั่วช้าเลวทรามต่างๆ ของตน ทำให้รู้สึกสังเวชสลดใจอย่างยิ่ง

หลวงปู่ก็ปลอบโยนให้การแนะนำว่า “ให้ตั้งสมาธิภาวนาต่อไปอีก ทำต่อไป ในไม่ช้าก็จะพ้นจากภาวะนั้นอย่างแน่นอน”นักเลงเหล่านั้นพากันนั่งสมาธิภาวนาอยู่กับหลวงปู่ไปจนตลอดคืน ก็ยังปัญญาให้เกิดแก่นักเลงเหล่านั้น จิตใจของพวกเขารู้สึกอิ่มเอิบด้วยธรรม ศรัทธา เกิดความเลื่อมใส จึงเปลี่ยนใจไปจากการอยากได้วิชาอาคมขลัง ตลอดจนกลับใจเลิกพฤติกรรมอันทำความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่นจนหมดสิ้น ปฏิญาณตนเป็นคำตายกับหลวงปู่ว่า จะไม่ทำกรรมชั่วทุจริตอีกแล้ว

 

เมื่อพิจารณาเหตุการณ์ในครั้งนี้ จะเห็นว่าในขณะที่พวกเขาทั้ง ๕ อยู่ต่อหน้าหลวงปู่ พวกเขามิได้กระทำกรรมชั่วอันใดลงไป ส่วนกรรมชั่วที่เขาเคยกระทำมาแล้วก็หยุดไว้ชั่วขณะ แฝงซ่อนเร้นหลบ อยู่ในขันธสันดานของเขา ในตอนนั้นพวกเขาก็มีเพียงความรู้สึกโลภ ด้วยการอยากได้คาถา อาคมจากหลวงปู่ แต่ความโลภช่วงนั้นได้สร้างความศรัทธาให้เกิด ทำให้ตั้งใจปฏิบัติตามคำสอน ในขณะจิตที่ตั้งใจ ความชั่วทั้งหลายก็หยุดพักไว้ ศีลก็มีความสมบูรณ์ พอที่จะเป็นบาทฐานของสมาธิภาวนาได้ เมื่อรักษาได้อย่างนั้นไม่ขาดสาย จิตย่อมตั้งมั่นอยู่ด้วยดี เรียกว่า มีสมาธิจิตที่ไม่กำเริบแปรปรวน เรียกว่าจิตมีศีล และอาการตั้งมั่นอยู่ด้วยดีเรียกว่ามีสมาธิ ย่อมมีความคล่องแคล่วแก่การงาน ควรแก่การพิจารณาปัญหาต่างๆได้เป็นอย่างดี เรียกว่า สติปัญญา ความรู้สึกและอารมณ์ดังกล่าว ตรงตามคำสอนของพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ที่ว่า “ศีลอันใด สมาธิอันนั้น สมาธิใด ปัญญาอันนั้น”

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

ที่มา: http://totalawake.com/blog/?p=4325, http://pantip.com/