รู้หรือไม่ ? จารีตล้านนาผู้หญิงห้ามทำแบบนี้ !!!!
ข้อห้ามผู้หญิงล้านนาในอดีต
๑. ห้ามเข้าใกล้บริเวณบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นบ่อน้ำที่คนล้านนาให้ความเคารพ มีทั้งบ่อที่มีมาช้านานตั้งแต่โบราณ และบ่อที่พบใหม่ ส่วนมากจะเป็น บ่อน้ำที่รักษาโรคได้สารพัดโรค ดังนั้นบริเวณรอบบ่อจะสร้างรั้วราชวัตรกั้นไว้ บุคคลที่จะเข้าไปในเขตรั้วเพื่อตักน้ำในบ่อ ถ้าสวมหมวกจะต้องถอดออก ถ้าสวมรองเท้าจะต้องถอดรองเท้า ก่อนที่จะตักน้ำ จะมีการกราบไหว้บูชา แล้วตั้งคำอธิษฐานขอให้หายจาก โรคอะไร บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ทุกบ่อ ห้ามผู้หญิงเข้าไปในบริเวณรั้วราชวัตร ถ้าต้องการน้ำศักดิ์สิทธิ์ ก็ขอให้ผู้ชายเป็นคนตักให้ ถ้าผู้ผู้หญิง เข้าใกล้บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่าน้ำในบ่อจะหมดความศักดิ์สิทธิ์ และยิ่งถ้าเป็นผู้หญิงที่มีประจำเดือนเข้าใกล้บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่า จะทำให้น้ำในบ่อเน่าเสีย
๒.ห้ามนั่งปากบ่อน้ำ
บ่อน้ำ เป็นสิ่งนับถือของคนโบราณ ถือว่าน้ำเป็นสิ่งที่มีคุณ ทั้งน้ำกินน้ำใช้ได้จากบ่อ เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ และวัน สงกรานต์ ชาวบ้านจะนำประทีปไปจุดบูชาที่บ่อน้ำ เพื่อเป็นการบูชาคุณน้ำ และเป็นการขอขมาน้ำด้วย เมื่อบ่อน้ำถือเป็นสถานที่มีคุณ คนโบราณจึงห้ามนั่งบนปากบ่อ ถ้าผู้เฒ่าผู้แก่เห็นผู้ชายนั่ง จะดุด่า ตักเตือนไม่ให้นั่งอีก โดยบอกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นการลบหลู่คุณของน้ำ แต่ถ้ามีผู้หญิงใด นั่งปากบ่อน้ำ ถ้าผู้เฒ่าผู้แก่เห็นจะโกรธและดุด่าอย่างรุนแรง เพราะ เชื่อว่า ถ้าผู้หญิงนั่งปากบ่อน้ำ จะทำให้น้ำในบ่อนั้นเน่าเสีย และจะต้องเอาน้ำส้มป่อยไปประพรมขอขมาลาโทษบ่อน้ำนั้น
๓. ห้ามเข้าไปเหยียบในบริเวณลานพระธาตุเจดีย์
พระธาตุเจดีย์ เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นของที่ศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นบริเวณรอบ องคพระธาตุจึงนิยมทำกำแพงแก้วกั้นไว้เป็นบริเวณลาน (ข่วง) พระธาตุ บุคคลใดประสงค์จะเข้าไปที่ลานในกำแพงแก้ว เพื่อกราบไหว้บูชา หรือเข้าไปทำความสะอาด ถ้าสวมหมวกจะต้องถอดออก ถ้าสวมรองเท้าต้องถอดรองเท้า และที่ห้ามเข้าไปในบริเวณลานเจดีย์ คือ ผู้หญิง ถือว่าถ้าผู้หญิงเข้าไปจะทำให้เสียความศักดิ์สิทธิ์ แต่คนโบราณก็ไม่ได้กล่าวว่าเพศหญิงเป็นเพศต่ำ ป้ายห้ามผู้หญิงเข้าไปภายในบริเวณลาน พระธาตุวัดพระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่ พระธาตุหริภุญชัย ลำพูน พระธาตุลำปางหลวง และทุกวัดในเขตล้านนา
๔. ห้ามเข้าพระอุโบสถหรือในเขตกำแพงแก้วพระอุโบสถ
พระอุโบสถ คืออาคารที่ทำสังฆกรรมของพระสงฆ์ ในล้านนาจะเป็นอาคารหลังไม่ใหญ่ และจะห้ามผู้หญิงเข้า แม้กระทั่งในเขตของ กำแพงแก้วก็ห้ามเหยียบเข้าไป ถ้าผู้หญิงเข้าจะทำให้เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็ยังมีข้อแม้ว่า ถ้าผู้หญิงใดกำเนิดลูกผู้ชาย จำนวน ๗ คน และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุทั้ง ๗ คน จึงจะเข้าอุโบสถได้
๕. ห้ามกินผลไม้แฝด
ผลไม้แฝด คือผลไม้ ๒ ลูกออกมาเชื่อมติดกัน เช่น กล้วย มะม่วง มะปราง เป็นต้น ในล้านนาจะห้ามผู้หญิงกินผลไม้นั้น เชื่อว่า จะทำให้ผู้หญิงนั้นมีลูกแฝด เพราะการมีลูกแฝดสมัยโบราณนั้นไม่เป็นที่ปรารถนาของผู้หญิง เนื่องจากอาจเกิดอันตรายจากการคลอด และจะยุ่งยากลำบากในการเลี้ยงดู
๖. ห้ามเก็บพืชผักในระหว่างที่มีประจำเดือน
ในบริเวณสวนหลังบ้านของคนแต่ก่อน จะเป็นที่ปลูกพืชผักสำหรับปรุงอาหาร ผักที่ใช้ประกอบการปรุงอาหาร เช่น ผักไผ่ สะระแหน่ ผักคาวทอง ต้นหอม ผักชี ผักสำหรับจิ้มลาบ เป็นต้น ผู้หญิงใดที่อยู่ในระหว่างมีประจำเดือน ท่านห้ามเก็บผักเหล่านี้ ถ้าผู้หญิงที่มีประจำเดือนเก็บผักดังกล่าว เชื่อว่า ผักจะแห้ง เฉาตายลง ผู้ใหญ่ก็จะรู้ว่ามีผู้หญิงที่อยู่ในระหว่างมีประจำเดือนฝ่าฝืน ข้อห้าม และต้องมีการดุด่าว่ากล่าวตักเตือนไม่ให้ทำอีก
๗. ห้ามใช้เท้าเตะถีบเพศชายหรือสัตว์เพศผู้
คนโบราณถือว่าเพศชาย หรือเพศผู้ เป็นเพศที่สูง เป็นเพศที่ประเสริฐ จึงอบรมสั่งสอน เพศหญิงให้เคารพเพศชาย ท่านกล่าว ไว้ว่าผู้ชายที่ตั้งความปรารถนาและอธิษฐานขอเกิดเป็นผู้หญิงนั้น ใช้เวลาเพียง ๑ ชาติ ก็จะได้เกิดเป็นผู้หญิงสมความปรารถนา แต่ถ้าผู้หญิงตั้งความปรารถนาและอธิษฐานขอเกิดเป็นผู้ชาย ต้องใช้เวลาถึง ๕๐๐ ชาติ จึงจะได้เกิดเป็นผู้ชาย ดังนั้น จึงสอนไม่ให้เพศ หญิงใช้เท้าซึ่งถือว่าเป็นของต่ำ เตะถีบเพศชาย แม้กระทั่งสัตว์ดิรัจฉานบางประเภท เช่น ช้าง ม้า วัวควาย สุนัข เป็นต้น ที่เป็นเพศผู้ก็ห้ามผู้หญิงใช้เท้าเตะถีบเช่นกัน