ทนาย นายสงกานต์ ถาม!! เน็ตไอดอล จิตไม่ปกติมีใบขับขี่ได้อย่างไร... ???
ทนายถามกลับเน็ตไอดอล จิตไม่ปกติมีใบขับขี่ได้อย่างไร
ทนาย"สงกานต์"ไขข้อข้องใจ"เน็ตไอดอล"สาวซิ่งชนยับ 9 คันรวด ระบุหากจิตไม่ปกติจะมีใบขับขี่-สร้างความน่าเชื่อถือในการขายครีม เครื่องสำอางได้อย่างไร ชี้คนทำผิดมักอ้างคำว่า"วิกลจริต"เพื่อให้พ้นผิดเสมอ...
จากกรณีเน็ตไอดอลสาว “น้ำส้ม โซมี่” หรือ น.ส.กฤตรฎ โซมี่ ทับทิมผล วัย 28 ปี ขับรถเก๋ง BMW สีขาว เลขทะเบียน กบ 42 กรุงเทพมหานคร ชนยับ 9 คันรวด บนถนนรัชดาภิเษก ซึ่งหลังจากเกิดเหตุทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจพบยาคลายเคลียดและบัตรผู้ป่วยทางจิตบนรถของเน็ตไอดอลคนดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีผู้ถ่ายคลิปวีดิโอเน็ตไอดอลสาวนำมาเผยแพร่ในโลกออนไลน์ และกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พ.ย. นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความชื่อดัง ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ได้ไขข้อข้องใจในประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า อย่างแรกต้องพิจารณาว่าขณะที่ผู้ขับขี่ขับรถนั้น มีสติสัมปชัญญะด้วยหรือไม่ เพราะในกรณีเหตุรถชนส่วนใหญ่ ผู้ขับขี่มักจะอ้างว่ามีอาการทางจิตในการดำเนินคดีทางอาญา เนื่องจากหากพิสูจน์ว่าเป็นบุคคลวิกลจริตแล้ว จะสามารถลดโทษลงได้ ซึ่งศาลท่านก็จะพิจารณาสืบความไปถึงประวัติการรักษาก่อนหน้านี้ โดยต้องมีแพทย์มายืนยันอีกครั้งว่าผู้ก่อเหตุมีอาการจริง และยังต้องพิจารณาในส่วนของใบอนุญาตขับขี่ เนื่องจากก่อนการขอใบอนุญาตต้องมีการยื่นใบรับรองแพทย์ ยืนยันว่าเป็นบุคคลปกติ แต่หากมีประวัติการรักษาอาการทางจิตแล้ว จะสามารถมีใบอนุญาตขับขี่ไว้ในครอบครองได้อย่างไร แต่ตนก็เชื่อว่าพนักงานสอบสวนจะสมารถสืบหาข้อมูลได้อย่างครบถ้วน แต่อย่างไรก็ตามก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลว่าเน็ตไอดอลสาวซิ่งชน 9 คันจะเข้าข่ายความผิดในข้อกฎหมายใดบ้าง
“การที่คนเราจะมียาคลายเครียดไว้กับตัว ใครๆก็สามารถซื้อหามารับประทานกันได้ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นบุคคลวิกลจริตเสมอไป แต่ในมุมมองของคนทั่วไปแล้ว การที่เป็นเน็ตไอดอลควรจะทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี แต่หากเป็นคนจิตไม่ปกติหรือวิกลจริตจะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือในการขายครีม ยาลดความอ้วนได้อย่างไร?” ทนายสงกานต์กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 ระบุไว้ว่าผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้ ผู้นั้นต้องรับโทษแต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ นอกจากนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา420 ได้ระบุไว้ว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และมาตรา 437 บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง.