เครื่องเพาะถั่วงอกอัตโนมัติ!!!! ทำง่าย ผลผลิตงาม รสชาติดี ปลอดสารพิษ
ถั่วงอก เป็นผักเศรษฐกิจที่น่าสนใจในเกือบทุกพื้นมีผู้นิยมบริโภคเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร มีการบริโภควันละ 200,000 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะมีโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ เป็นผักชนิดเดียวที่ใช้เวลาเพาะเพียง 2-3 วันเท่านั้น สามารถเก็บเกี่ยวได้
การเพาะถั่วงอก มีวิธีการและขั้นตอนการเพาะหลากหลากวิธี แต่ละวิธีก็สามารถผลิตถั่วงอกได้คุณภาพที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับวิธีการเพาะของผู้เพาะแต่ละคน แต่วันนี้เราจะมาแนะนำ..
เครื่องเพาะถั่วงอกอัตโนมัติระบบน้ำหมุนเวียนควบคุมด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์
เครื่องเพาะถั่วงอกอัตโนมัติที่ได้รับการพัฒนาโดยใช้ข้อดีต่างๆ ของระบบการเพาะถั่วงอกที่มีการเผยแพร่ในท้องตลาด เช่น ถั่วงอกคอนโด ถั่วงอกรดน้ำอัตโนมัติ โดยเครื่องเพาะถั่วงอกอัตโนมัติระบบน้ำหมุนเวียนนี้ใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ควบคุมการรดน้ำ โดยใช้ควบคุมทั้งอุณหภูมิและเวลา
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือใช้ระบบน้ำหมุนเวียน โดยนำน้ำที่รดไปแล้ว นำกลับมาใช้ใหม่โดยไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตของถั่วงอก โดยการใช้ปุ๋ยจุลินทรีย์ ชนิดต่างๆ มาทดลองใส่ในน้ำจนได้ปริมาณที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของถั่วงอกและไม่ทำให้น้ำเน่าเสีย จึงสามารถตั้งเครื่องไว้ที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องมีที่ระบายน้ำ และไม่ต้องเสียเวลาในการเฝ้ารดน้ำ อีกทั้งยังช่วยประหยัดน้ำได้มากถึง 50 เท่า ผลผลิตที่ได้ออกมาประสบความสำเร็จมากกว่า 95%
สำหรับวิธีการสร้างเครื่องเพาะถั่วงอกอัตโนมัติระบบน้ำหมุนเวียน มีอุปกรณ์ ประกอบด้วย
- ถังน้ำสีดำขนาด 20 แกลลอนหรือ 66 ลิตร เจาะรูขนาด 3/4 นิ้ว สูงจากก้นถัง 15 ซม. ฝาถังเจาะรูเพื่อใช้ใส่หัวฝักบัวรดน้ำ (ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 ซม.)
- ตะกร้าพลาสติกขนาด 47X47X43 ซม. เลือกที่ก้นตะกร้ามีรูระบายน้ำ ถ้าไม่มีต้องใช้สว่านเจาะรูเอง พร้อมสายยางขนาด 5/8 นิ้ว ยาว 1.10 เมตร
- ปั๊มน้ำสำหรับให้ออกซิเจนปลา ขนาดไม่ต่ำกว่า 1000L/h ประกอบเข้ากับสายยาง
สำหรับชุดเพาะถั่วงอกนั้นประกอบด้วย
- กระสอบป่าน
- ตะแกรงพลาสติกที่มีรูขนาด 2 มิลลิเมตร และ 5 มิลลิเมตร
นำมาตัดเป็นวงกลมโดยให้มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 30 เซนติเมตร โดยกระสอบป่านต้องเย็บขอบเพื่อป้องกันการหลุดของเส้นป่าน
วิธีการเพาะถั่วงอก
โดยขั้นตอนแรก นำกระสอบและตะแกรงซ้อนกันจำนวน 5 ชุด ซึ่งประกอบด้วย ตะแกรงขนาด 2 และ5 มิลลิเมตร และกระสอบป่าน ต่อมาใส่เมล็ดถั่ว (ที่ผ่านการแช่น้ำอุ่น 50 องศา 6 ชม.) 1 ขีด ( 1 1/3 ถ้วยตวง) บนชั้นตะแกรง แล้วเกลี่ยให้ทั่วและนำชั้นตะแกรงลงตะกร้าแล้วปิดทับด้วยกระสอบป่าน
หลังจากนั้นใส่น้ำสะอาดลงในถังเพาะประมาณ 10-12 ลิตร หรือเสมอขอบรูลอดสายยาง ต่อจากนั้นใส่ปุ๋ยจุลินทรีย์ EM 2 ช้อนโต๊ะ (20ซีซี) แล้วนำตะกร้าใส่ลงในถังเพาะ ประกอบสายยางเข้ากับก้านฝักบัว ยกถังเพาะไปตั้งในสถานที่ ที่ต้องการ (ต้องมีปลั๊กไฟฟ้าและห้ามถูกแสงแดดส่อง)
ขั้นตอนสุดท้ายนำสายไฟจากตัวปั๊มเสียบเข้ากับเครื่องควบคุม(ไมโครคอนโทรลเลอร์) และนำสายไฟจากเครื่องควบคุมเสียบเข้าที่ปลั๊กไฟฟ้า เครื่องจะทำการรดน้ำครั้งแรก และจะควบคุมจังหวะเวลาในการรดน้ำจนถึงเวลาเก็บเกี่ยว (รวมเวลาแช่ถั่วและเวลาเพาะในถังประมาณ 60-64 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิภายนอก)
การเก็บเกี่ยวผลผลิต
เมื่อถึงเวลาที่กำหนด ให้ยกตะกร้าออกจากถังเพาะและทำการล้างหัวถั่วให้หลุดออกก่อนโดยการแช่ลงในน้ำและเขย่า ยกขึ้นลง ต่อจากนั้นก็นำมาตัดรากออก และล้างน้ำสะอาด 2 ครั้ง รอให้ถั่วสะเด็ดน้ำแล้วนำบรรจุถุงขาย หรือเก็บเข้าช่องแช่ผักในตู้เย็นไว้บริโภค ซึ่งจะสามารถเก็บได้นาน 5-7 วันโดยที่ตัวถั่วงอกยังกรอบ ไม่เน่าเสียแต่จะมีใบขึ้นมาอีกเล็กน้อย
การเพาะ 1 ถังจะใช้ถั่วครึ่งกิโลกรัม ได้ผลผลิต 2.5-3.5 กิโลกรัม
การทำความสะอาดอุปกรณ์
เนื่องจากถั่วงอกต้องการความสะอาดในกระบวนการเจริญเติบโต อุปกรณ์ต่างๆควรทำความสะอาดทุกครั้ง โดยเฉพาะกระสอบ เมื่อขูดรากถั่วงอกออกแล้วให้ซักน้ำเปล่าอีก 2 ครั้งแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง และเมื่อใช้ในการเพาะ 3-4 ครั้ง ควรนำไปต้มประมาณ 10 นาที ก่อนจะนำไปใช้ครั้งต่อไป
จากการทดลองเพาะถั่วงอกด้วยเครื่องเพาะถั่วงอกอัตโนมัติระบบน้ำหมุนเวียน ทำให้พิสูจน์ได้ว่าทำไมเราจึง ควรที่จะเลือกเพาะถั่วงอกด้วยเครื่องเพาะอัตโนมัติระบบน้ำหมุนเวียน นั่นก็คือในการทดลองเพาะถั่วงอกในระบบดั้งเดิม โดยการรดน้ำ 2 นาที ทุกๆ 2 ชั่วโมง จนถึงเวลาเก็บเกี่ยว ต้องใช้น้ำประมาณ 500 ลิตร สิ้นเปลืองทั้งปริมาณน้ำและแรงงานคน
ในขณะที่ การเพาะแบบระบบน้ำหมุนเวียนใช้น้ำเพียง 10-12 ลิตร คำนวณจากถังต้นแบบขนาด 66 ลิตร (20 แกลลอน) อีกทั้งน้ำที่เหลือจากการเพาะถั่วงอกจะมีจุลินทรีย์ที่สามารถนำไปรดน้ำต้นไม้ เป็นปุ๋ยอย่างดี ทดลองแล้วพืชโตเร็ว ออกใบ ดอก งดงาม
ถั่วงอกที่เพาะด้วยระบบน้ำหมุนเวียน จะปลอดสารฟอกเร่งอ้วนและฟอกขาว เพราะถั่วงอกที่เพาะได้จะขาวเพราะจุลินทรีย์จะไปกินพวกซากใยถั่วเป็นอาหารและการตัดรากก็ทำให้ถั่วดูขาว เนื่องจากรากถั่วงอกจะมีสีดำ ถั่วงอกที่ได้ก็จะมีขนาดที่พอเหมาะไม่อวบน้ำ และหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตถั่วงอกก็สามารถเก็บไว้ได้นาน 5-7 วัน
โดยเก็บไว้ในช่องแช่ผัก เมื่อจะนำมาประกอบอาหารให้แช่น้ำก่อน และเมื่อนำไปปรุงอาหารก็จะได้ถั่วงอกที่มีรสชาติดี เพราะถั่วงอกที่เพาะด้วยระบบน้ำหมุนเวียนจะไม่อมน้ำ ทำให้ได้รสชาติครบถ้วน อีกทั้งการเพาะถั่วงอกอัตโนมัติระบบน้ำหมุนเวียนนั้นจะทำให้ไม่เปลืองเนื้อที่ทำบ่อบำบัดน้ำ
ในกรณีที่เป็นโรงงาน ต้องใช้เนื้อที่ในการกักเก็บน้ำที่ใช้รดถั่วงอกแล้วนำมาบำบัดเพื่อนำมาใช้ใหม่เนื่องจากต้องใช้นำปริมาณมาก หาที่ตั้งอุปกรณ์ในการเพาะถั่วงอกได้ง่าย เนื่องจากไม่ต้องการพื้นที่ในการระบายน้ำที่รดถั่วงอกแล้วและสามารถดัดแปลงใช้ กับโรงเพาะขนาดใหญ่ได้ โดยใช้มอเตอร์ปั๊มน้ำตัวเดียวและกระจายท่อรดน้ำที่เก็บน้ำรดถั่วงอกใช้ที่เดียวโดยให้น้ำที่รดแล้วไหลมารวมกัน
สำหรับผู้ที่สนใจที่จะทดลองเพาะถั่วงอกอัตโนมัติระบบน้ำหมุนเวียน เพื่อนำมารับประทานภายในครอบครัว หรือจะสร้างเป็นอาชีพ สามารถสอบถามรายละเอียดและขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย